วันพฤหัสบดีที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2554

การทำงานของหัวใจ

การทำงานของหัวใจแบ่งเป็น 3 ส่วนสำคัญคือ
การควบคุมสั่งการจากระบบประสาท
โดยปกติหัวใจจะถูกควบคุมโดยระบบประสาทอัตโนมัติ(Autonomic nervous system) จากบริเวณ ก้านสมอง (Brainstem) ด้วยเส้นประสาทจากสมอง 2 ชนิดคือ เส้นประสาทซิมพาเธติค (Sympathetic nerve fibers) และเส้นประสาทเวกัส(vagal motor nerve fibers) ซึ่งจะส่งสัญญาณประสาทมาที่ SA node
โดยที่เส้นประสาทซิมพาเธติคจะทำให้ SA node ทำงานเร็วขึ้น ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ขณะที่เส้น ประสาทเวกัส จะทำให้ SA node ทำงานช้าลง ทำให้หัวใจทำงานช้าลง
นอกจากนี้แล้วส่วนของหัวใจและหลอดเลือดจะประกอบด้วยตัวรับสัญญาณประสาทที่เราเรียกว่า receptors ซึ่งจะถูกควบคุมทั้ง จากระบบประสาทซิมพาเธติค และระบบประสาทพาราซิมพาเธติค อันจะมีผล ต่อความเร็วและความแรงในการบีบตัวของหัวใจ การหดและขยายตัวของหลอดเลือด ซึ่งมีรายละเอียด ค่อนข้าง ซับซ้อนจะไม่ขอกล่าวถึงรายละเอียดในขณะนี้
การนำสัญญาณไฟฟ้าในหัวใจ

โดยปกติหัวใจจะมีส่วนที่เป็นฉนวนไฟฟ้ากั้นระหว่างหัวใจห้องบนและห้องล่าง เราเรียกว่า annulus fibrosus แต่หัวใจมีระบบ การนำสัญญาณไฟฟ้าเฉพาะที่เราเรียกว่า cardiac conduction system ซึ่งจะทำ หน้าที่นำสัญญาณไฟฟ้าจากหัวใจห้องบนลงสู่ห้องล่าง
เมื่อสัญญาณไฟฟ้ากระตุ้นกล้ามเนื้อหัวใจจะทำให้เกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อหัวใจและตามด้วยการคลายตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ เมื่อสัญญาณไฟฟ้าผ่านไป
หัวใจจึงมีการบีบตัวจากหัวใจห้องบนลงสู่หัวใจห้องล่างแล้วตามด้วยการบีบตัวของหัวใจห้องล่างส่งเลือดต่อไป ให้เส้นเลือดแดง พัลโมนารี่และ เส้นเลือดแดงเอออร์ตา และด้วยระยะเวลาการบีบตัวที่พอเหมาะ ระหว่างหัวใจห้องบนและห้องล่าง จะทำให้เลือดไหลจาก หัวใจห้องบน ลงสู่ห้องล่างได้อย่างเต็มที่
จุดเริ่มของการ นำไฟฟ้าในหัวใจ เริ่มที่หัวใจห้องบนขวาในบริเวณที่เราเรียกว่า SA node หรือ sinoatrial node หรือ sinus node
จากนั้นสัญญาณไฟฟ้าจะกระตุ้นไปตามผนังของหัวใจห้องบนทั้งขวาและซ้ายและลงสู่บริเวณที่เราเรียกว่า AV node หรือ Atrioventricular node และที่ตำแหน่งนี้สัญญาณจะถูกหน่วงเวลาให้ช้าลงชั่วครู่ก่อนจะส่ง สัญญาณไฟฟ้าต่อลงไปข้างล่าง ซึ่งจะเป็นจังหวะเดียวกับที่รอให้หัวใจห้องบนบีบเลือดลงสู่หัวใจห้องล่างนั่นเอง
จาก AV node สัญญาณไฟฟ้าจะเดินทางต่อมายัง มัดเส้นใยประสาทที่เราเรียกว่า Bundle of His และแยกออกเป็น 2 แขนงซ้ายขวา โดยแขนงด้านขวาทอดยาวมาตามด้านขวาของผนังกั้นหัวใจห้องล่าง ส่วนแขนงด้านซ้ายซึ่งใหญ่กว่าจะแทงทะลุผ่านผนังกั้นหัวใจไปทางซ้ายและแยกออกเป็น 2 แขนงคือ ด้านหน้าและด้านหลัง
จากนั้นจะผ่านเข้าไปยังร่างแหของเส้นใยประสาทที่เราเรียกว่า Purkinje fibers ซึ่งอยู่ใต้ต่อเยื่อบุ ด้านในของหัวใจ(endocardium) และไปกระตุ้นกล้ามเนื้อหัวใจด้านล่างทำให้เกิดการบีบตัวในที่สุด

ลิ้นหัวใจ



ลิ้นหัวใจ
ภาพตัดตรงของหัวใจ แสดงผนังของหัวใจและตำแหน่งของลิ้นหัวใจ
ลิ้นหัวใจเป็นแผ่นของกล้ามเนื้อหัวใจและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่แข็งแรงที่ยื่นออกมาจากผนังของหัวใจ เพื่อควบคุมทิศทางการไหลของเลือดภายในหัวใจ ให้เป็นไปในทิศทางเดียว โดยอาศัยความแตกต่างของความดันโลหิตในแต่ละห้อง ลิ้นหัวใจที่สำคัญได้แก่
ลิ้นหัวใจไทรคัสปิด (Tricuspid valve) มีสามกลีบ (cusps) อยู่ระหว่างหัวใจห้องบนขวาและล่างขวา
ลิ้นไมทรัล (Mitral valve) มีสองกลีบ บางครั้งจึงเรียกว่า ลิ้นหัวใจไบคัสปิด (bicuspid valve) อยู่ระหว่างหัวใจห้องบนซ้ายและล่างซ้าย
ลิ้นหัวใจพัลโมนารีเซมิลูนาร์ (pulmonary semilunar valve) มีสามกลีบ อยู่ระหว่างหัวใจห้องล่างขวาและหลอดเลือดแดงพัลโมนารี
ลิ้นหัวใจเอออร์ติกเซมิลูนาร์ (Aortic semilunar valve) มีสามกลีบ อยู่ระหว่างหัวใจห้องล่างซ้ายและหลอดเลือดแดงใหญ่ ใกล้ๆกับโคนของลิ้นหัวใจนี้จะมีรูเปิดเล็กๆ ซึ่งเป็นทางเข้าของเลือดที่จะเข้าสู่ระบบหลอดเลือดหัวใจ


ลิ้

วันเสาร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2554

ห้องหัวใจ

ห้องหัวใจ

หัวใจจะถูกแบ่งออกเป็นสี่ห้อง (Heart chambers) และทิศทางการไหลของเลือดเข้าสู่แต่ละห้องจะถูกควบคุมโดยลิ้นหัวใจ (Cardiac valves) ทำให้เลือดไม่ไหลย้อนเมื่อมีการบีบตัวและคลายตัว ในที่นี้จะกล่าวถึงห้องของหัวใจตามลำดับของการไหลของเลือดภายในหัวใจ
หัวใจห้องบนขวา
หัวใจห้องบนขวา (Right atrium) มีหน้าที่รับเลือดที่มาจากหลอดเลือดดำใหญ่ซุพีเรียเวนาคาวา (Superior vena cava) ซึ่งรับเลือดมาจากร่างกายส่วนบน และหลอดเลือดดำใหญ่อินฟีเรียร์เวนาคาวา (Inferior vena cava) รับเลือดมาจากร่างกายช่วงล่าง ผนังของหัวใจห้องนี้ค่อนข้างบาง โดยเฉพาะทางด้านที่ติดกับหัวใจห้องบนซ้าย จะมีรอยบุ๋มที่เรียกว่า ฟอซซา โอวาเล (Fossa ovale) ซึ่งเป็นทางเชื่อมระหว่างหัวใจห้องบนทั้งสองห้องระหว่างที่อยู่ในครรภ์ โดยปกติจะไม่มีช่องเปิดใดๆ แต่ในกรณีที่รอยบุ๋มดังกล่าวนี้ยังคงเหลือช่องเปิดอยู่ อาจทำให้การไหลเวียนของเลือดภายในหัวใจผิดปกติได้ เลือดจากหัวใจห้องบนขวาจะไหลเข้าสู่หัวใจห้องล่างขวา ผ่านทางลิ้นหัวใจไทรคัสปิด (Tricuspid valve)
หัวใจห้องล่างขวา
หัวใจห้องล่างขวา (Right ventricle) จะอยู่ทางด้านหน้าสุดของหัวใจ และพื้นผิวทางด้านหลังของหัวใจห้องนี้จะติดกับกะบังลม หัวใจห้องล่างขวาทำหน้าที่รับเลือดจากหัวใจห้องบนขวา แล้วส่งออกไปยังปอด ผ่านลิ้นหัวใจพัลโมนารี (Pulmonary valve) และหลอดเลือดแดงพัลโมนารี (Pulmonary arteries) ที่ผนังของหัวใจห้องที่จะมีแนวของกล้ามเนื้อหัวใจที่สานต่อกัน และมีเอ็นเล็กๆที่ควบคุมลิ้นหัวใจไทรคัสปิด ซึ่งเรียกว่า คอร์ดี เท็นดินี (Chordae tendinae) ซึ่งทำหน้าที่ยึดลิ้นหัวใจไทรคัสปิดไม่ให้ตลบขึ้นไปทางหัวใจห้องบนขวาระหว่างการบีบตัวของหัวใจห้องล่าง ดังนั้นจึงป้องกันไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับ
หัวใจห้องบนซ้าย
หัวใจห้องบนซ้าย (Left atrium) มีขนาดเล็กที่สุดในห้องหัวใจทั้งสี่ห้อง และวางตัวอยู่ทางด้านหลังสุด โดยหัวใจห้องนี้จะรับเลือดที่ได้รับออกซิเจนจากปอดผ่านทางหลอดเลือดดำพัลโมนารี (Pulmonary veins) และจึงส่งผ่านให้หัวใจห้องล่างซ้ายทางลิ้นไมทรัล (Mitral valve)
หัวใจห้องล่างซ้าย
          หัวใจห้องล่างซ้าย (Left ventricle) จัดว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดและมีผนังหนาที่สุด ทำหน้าที่หลักในการสูบฉีดเลือดไปยังทั่วทั้งร่างกายผ่านทางลิ้นหัวใจเอออร์ติก (Aortic valve) และหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตา (Aorta)

หัวใจ (Heart)

หัวใจ (Heart) เป็นอวัยวะสำหรับการสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่างๆของร่างกายโดยอาศัยโครงสร้างของกล้ามเนื้อหัวใจ (cardiac muscle) และระบบนำไฟฟ้า (conduction system) ภายในหัวใจซึ่งสร้างและควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ

มุมมองทางด้านหน้าของหัวใจ แสดงทิศทางการไหลของเลือดภายในหัวใจ

หัวใจอยู่บริเวณกลางช่องอก ที่เรียกว่า เมดิแอสไตนัมส่วนกลาง (middle mediastinum) ขนาบข้างด้วยปอด และมีหลอดเลือดแดงใหญ่ และหลอดอาหารวางอยู่ใต้หัวใจ หัวใจมีเยื่อบางๆ เรียกว่า เยื่อหุ้มหัวใจ (pericardium) ช่วยลดแรงเสียดทานระหว่างการเต้นของหัวใจ
หัวใจมีระบบหลอดเลือดเฉพาะ เรียกว่า ระบบหลอดเลือดหัวใจ (coronary system) มีหน้าที่นำเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจโดยตรง

โครงสร้างและพื้นผิวของหัวใจ
หัวใจจะวางตัวอยู่ในช่องอกและเยื้องไปทางซ้ายเล็กน้อย ผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพสมบูรณ์ หัวใจจะมีน้ำหนักประมาณ 250-350 กรัม และมีขนาดประมาณสามในสี่ของกำปั้น แต่ในกรณีของผู้ป่วยโรคหัวใจโต (Cardiac hypertrophy) น้ำหนักของหัวใจอาจมากถึง 1000 กรัม หัวใจคนเรานั้นมี 4 ห้องคือ 2 ห้องบนและ 2 ห้องล่าง
บนพื้นผิวของหัวใจจะมีร่องหัวใจ (Cardiac grooves) ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการวางตัวของหลอดเลือดหัวใจ ร่องหัวใจที่สำคัญได้แก่
  • ร่องโคโรนารี (Coronary grooves) หรือร่องเอตริโอเวนตริคิวลาร์ (atrioventricular groove) เป็นร่องที่อยู่ระหว่างหัวใจห้องบน (atria) และหัวใจห้องล่าง (ventricle) ร่องนี้จะเป็นที่วางตัวของแอ่งเลือดโคโรนารี (coronary sinus) ทางพื้นผิวด้านหลังของหัวใจ
  • ร่องอินเตอร์เวนตริคิวลาร์ด้านหน้า (Anterior interventricular groove) เป็นร่องที่แบ่งระหว่างหัวใจห้องซ้ายและหัวใจห้องขวาทางด้านหน้า และจะมีแขนงใหญ่ของหลอดเลือดแดงโคโรนารีด้านซ้าย (left coronary artery) วางอยู่
  • ร่องอินเตอร์เวนตริคิวลาร์ด้านหลัง (Posterior interventricular groove) เป็นร่องที่แบ่งหัวใจระหว่างห้องซ้ายและห้องขวาทางด้านหลัง ส่วนใหญ่จะพบว่ามีแขนงของหลอดเลือดแดงโคโรนารีด้านขวา (right coronary artery) วางอยู่
ผนังหัวใจ
ผนังของหัวใจประกอบด้วยเนื้อเยื่อสามชั้น ได้แก่
  • เยื่อหุ้มหัวใจชั้นใน (Epicardium) เป็นชั้นที่ติดต่อกับเยื่อหุ้มหัวใจด้านที่ติดกับหัวใจ (Visceral layer of pericardium) ประกอบด้วยเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่เหนียวและแข็งแรง
  • กล้ามเนื้อหัวใจ (Myocardium) เป็นชั้นที่มีความหนามากที่สุด และประกอบด้วยกล้ามเนื้อหัวใจเกือบทั้งหมด
  • เยื่อบุหัวใจ (Endocardium) เป็นชั้นบางๆที่เจริญมาจากเซลล์เยื่อบุหลอดเลือด

วันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

อาการเจ็บหน้าอกกับโรคหัวใจ

ลักษณะอาการเจ็บหน้าอก
- ระยะเวลาเจ็บหน้าอกจะนานมากกว่า 30 นาที หรือบางทีเป็นชั่วโมง
- ลักษณะการเจ็บหน้าอกจะคล้ายมีของหนักมาทับ ถูกบีบรัด รู้สึกหายใจไม่ออก
- ตำแหน่งที่เจ็บ อาจเป็นที่หน้าอกด้านซ้าย หรือร้าวไม่ยัง อวัยวะอื่น ได้แก่ บริเวณไหล่ คอ กราม ฟันและแขน
- อาการเจ็บมักไม่สัมพันธ์กับการออกกำลัง อยู่เฉย ๆ ก็อาจเกิด เจ็บหน้าอกได้
- อาจมีอาการอื่นร่วมด้วยได้แก่หายใจหอบ เหนื่อย มีเหงื่อออก คลื่นไส้อาเจียน เป็นลม หมดแรงหัวใจเต้นเร็วหรือเต้น ผิดจังหวะ
- สำหรับผู้สูงอายุอาการที่เกิดร่วมกับอาการเจ็บหน้าอก ได้แก่ อาการหายใจลำบาก คลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ ความดันโลหิตต่ำ เหงื่อออกมากสับสนหมดสติอ่อนเพลีย เหนื่อยหอบ หัวใจเต้นแรงเร็ว ปอดบวมน้ำหัวใจล้มเหลว

คำถามน่ารู้เกี่ยวกับโรคหัวใจ
1. อาการเจ็บหน้าอกเกี่ยวข้องกับโรคหลอดเลือดหัวใจโคโรนารี่อย่างไร
อาการเจ็บหน้าอก เป็นอาการแสดงถึงภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง สาเหตุเกิดจากการตีบตันของหลอดเลือดที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ควรได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว เพื่อให้เลือดสามารถไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้เพียงพอ และลดการขาดเลือดของกล้ามเนื้อหัวใจ
2. ทำไมต้องรีบไข หรือจัดการกับอาการเจ็บหน้าอก
อาการเจ็บหน้าอกถ้าปล่อยให้อาการเจ็บหน้าอกดำเนินไปเรื่อยๆ จะส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง เกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหัวใจ และเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายในที่สุด
3. อาการเจ็บหน้าอกในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ มีลักษณะอย่างไร
โดยทั่วไปแล้วลักษณะอาการเจ็บหน้าอกในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ดังต่อไปนี้
- อาการเจ็บหน้าอกชนิดคงที่ ส่วนใหญ่อาการเจ็บหน้าอกมักจะไม่รุนแรง เป็นเพียงชั่วขณะและมักเกิดในขณะที่ทำกิจกรรม
- เจ็บหน้าอกชนิดไม่คงที่ อาการเจ็บหน้าอกชนิดนี้มีความรุนแรงมากกว่าชนิดคงที่ โดยทั่วไปแล้วมักมีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรงปานกลางเกิดเป็นพักๆ แต่เป็นถี่มากขึ้นเกิดขึ้นทั้งขณะพักและมีกิจกรรม
- อาการเจ็บหน้าอกแบบกล้ามเนื้อหัวใจตาย อาการเจ็บหน้าอกมักเป็นนานมากกว่า 30 นาที เนื่องจากมีการตีบตันของหลอดเลือดแบบสมบูรณ์ หรืออาจบอกได้ว่าตีบตัน 100% อาการเจ็บหน้าอกชนิดนี้มักมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น เหงื่อแตก หน้ามืด เป็นลม คลื่นไส้ อาเจียน เหนื่อย ใจสั่น เป็นต้น
อย่าลืม!!! สังเกตว่า ถ้าอาการเจ็บหน้าอกที่มีสาเหตุจากหลอดเลือดหัวใจตีบแคบลง และทำให้หัวใจขาดเลือดเพียงชั่วขณะ ผู้ป่วยมักมีอาการเจ็บหน้าอกไม่นาน ซึ่งส่วนใหญ่จะพบว่าเจ็บหน้าอกประมาณ 5-15 นาที แล้วอาการเจ็บหน้าอกจะดีขึ้นถ้าได้พักหรืออมยาใต้ลิ้น
4. วิธีการจัดการกับอาการเจ็บหน้าอกเมื่อท่านมีอาการเจ็บหน้าอกควรทำอย่างไร
นั่งพักหรือนอนพัก
- อมยาใต้ลิ้น ผู้ที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายควรพกยาอมใต้ลิ้นติดตัวไว้เสมออย่างน้อย 3-5 เม็ด เมื่อมีอาการเจ็บหน้าอกให้อมยาใต้ลิ้นทันที 1 เม็ดและอมซ้ำได้อีก 2 เม็ดครั้งละ 1 เม็ดโดยห่างกัน 5 นาที แต่ถ้าอาการไม่ทุเลาลง ควรรีบพบแพทย์
- ในขณะที่อมยาควรนั่งลงหรือนอนพัก เพราะยาจะทำให้หลอดเลือดมีการขยายตัวอาจจะทำให้มีอาการหน้ามืดเป็นลมได้
- ในขณะอมยา ควรมีการสังเกตยาที่มีคุณภาพจะรู้สึกซ่าลิ้นไม่ควรเก็บยานานเกิน 2 เดือนและควรเก็บในขวดสีน้ำตาลไม่ให้ถูกแสงแดด
- ทำจิตใจให้สบาย คลายเครียด ไม่โกรธ ไม่กังวล

วิธีการใช้ยาเพื่อลดอาการเจ็บแน่นหน้าอก
ยาที่นิยมใช้ คือ ไอซอดิล (Isordil) ยานี้จะมีผลขยายหลอดเลือดดำทั่วร่างกายและหลอดเลือดหัวใจโคโรนารีโดยช่วยลดอาการเจ็บหน้าอกจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้

คำแนะนำในขณะใช้ยา
ยาอมใต้ลิ้น
- จะใช้ในกรณีที่มีอาการเจ็บแน่นหน้าอกยาจะออกฤทธิ์ลดอาการเจ็บหน้าอกได้เร็วโดยการอมยาใต้ลิ้น ครั้งละ 1 ม็ดหากภายใน 5 นาทีอาการไม่ดีขึ้นอมซ้ำได้ครั้งละ 1 เม็ดกรณีอมยาติดต่อกันเกิน 3 เม็ดแล้วอาการไม่ดีขึ้นควรรีบไปโรงพยาบาล
- ขณะอมยาควรนั่งพักหรือนอนพักเนื่องจากยามีฤทธิ์ในการขยายหลอดเลือดอาจทำให้ความดันโลหิตต่ำได้ เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด คลื่นไส้ อาเจียนหรือปวดศีรษะได้
- วิธีการเก็บรักษายา ควรเก็บในภาชนะที่ทึบแสงเนื่องจากแสงสว่างและความชื้นจะส่งผลให้ยาเสื่อมคุณภาพได้
- ถ้าอมยาแล้วไม่ซ่าเหมือนเดิมไม่ควรใช้ยานั้นอีกเนื่องจากยาเสื่อมคุณภาพ
- ควรพกพายาอมใต้ลิ้นติดตัวไว้ตลอดเวลา ประมาณ 3-5 เม็ด

วันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554